"ศาลฏีกาไม่ให้ประกันอากง ย้ำเหตุเดิม โทษร้ายแรงเกรงหลบหนี ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องก่อนหน้านี้ก็ชอบแล้ว"
15 มี.ค.55 อานนท์ นำภา ทนายความของนายอำพล (สงวนนามสกุล) หรือ “อากง” ผู้ต้องขังคดีส่ง SMS หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ระบุว่าศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนายอำพล โดยระบุเหตุผลว่า "พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี และเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องร้ายแรงประกอบกับศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยถึง ๒๐ ปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่จำเลยอ้างความป่วยเจ็บนั้นเห็นว่า จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวชอบแล้ว ยกคำร้อง"
คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ.4726/2554 จำคุกนายอำพล 20 ปีเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 เนื่องจากในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553ไปมีบุคคลส่งข้อความสั้น 4 ข้อความยังโทรศัพท์ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยเชื่อมโยงการกระทำความผิดของจำเลยมาจากหมายเลขอีมี่ หรือหมายเลขรหัสประจำเครื่องโทรศัพท์ ซึ่งได้จากข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ที่ได้จาก บริษัท โทเทิลแอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) ว่าเป็นหมายเลขเดียวกัน(ศาลฟังว่ามีการใช้เครื่องโทรศัพท์เดียวกันเพื่อส่งข้อความโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์หรือซิมการ์ดคนละหมายเลข มีการใช้โทรศัพท์ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน )
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 55 จำเลยได้อุทธรณ์คำพิพากษาในหลายประเด็น ได้แก่ ประเด็นภาพจับหน้าจอข้อความของผู้ได้รับข้อความนั้นไม่อาจยืนยันได้ว่ามีข้อความอยู่จริง ประเด็นที่หมายเลขอีมี่ซ้ำกันได้และไม่มีความน่าเชื่อถือ ประเด็นลำดับขั้นตอนการสอบสวนที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ และโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรวมถึงจำเลยไม่มีเหตุจูงใจใดในการส่งข้อความลักษณะดังกล่าว เป็นต้น พร้อมทั้งยื่นขอสืบพยานผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์โดยอ้างความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านโทรศัพท์มือถือจากประเทศเยอรมนี ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างส่งให้พนักงานอัยการโจทก์แก้อุทธรณ์ของจำเลย แต่ด้านพนักงานอัยการโจทก์นั้นไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งเดิมโจทก์ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เอาไว้
ทั้งนี้ นายอำพลถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2553 และถูกคุมขังสองเดือนก่อนศาลอุทธรณ์จะอนุญาตให้ประกันตัว แต่เมื่อนายอำพลไปรายงานตัวเพื่อรับทราบคำสั่งฟ้องของอัยการ ศาลกลับไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอีกด้วยเหตุที่ว่าเกรงจำเลยจะหลบหนี เมื่อรวมจำนวนครั้งที่จำเลยยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวและศาลปฏิเสธคำร้องด้วยเหตุเดียวกันว่าเกรงว่าจำเลยจะหลบหนีตั้งแต่ยื่นฟ้องนั้น รวมศาลชั้นยกคำร้องจำนวน 4 ครั้ง ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องจำนวน 3 ครั้ง และศาลฎีกายกคำร้องจำนวน 1 ครั้ง เป็นผลให้จำเลยจำคุกมาแล้ว 1 ปี 2 เดือนนับแต่พนักงานอัยการยื่นฟ้องแม้คดียังไม่ถึงที่สุดก็ตาม
ที่มา prachatai
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น