นาฬิกา รูปภาพ ปฎิทิน


       เวลาประเทศไทย...  
 
 
 

       ปฏิทินวันนี้...  

News online

Radio

REDPLUS  LIVE 1
ผู้กล้าปชต. 90.25 MHz
REDSIAM
SOOMHUAGUN
วิทยุ 3DANG 1
วิทยุแกนนอน
วิทยุม้าเร็ว 1
THAIVOICE 2
ติดต่อเรา way2fight.rs@gmail.com
Blog นี้เข้าได้สองทางนะครับ http://way2fight.blogspot.com และ http://fighttillwin.blogspot.com แต่ละ Blog มีบทความให้อ่านต่างกันครับ แต่นอกนั้นเหมือนกันหมดครับ C box เดียวกันครับ เข้าทางไหนก็คุยกันได้ครับ สำหรับท่านที่ต้องการเข้ามาคุยอย่างเดียวเชิญทางนี้ครับ http://way2fight.cbox.ws/ (ห้องสีชมพู) และ http://winniebetter.cbox.ws/ (ห้องสีฟ้า) สำหรับท่านที่ต้องการอ่านแต่บทความอย่างเดียวเพราะคอมช้า ทำให้เสียเวลาในการโหลดหน้าเวบ ทางทีมงาน Blog ได้รวบรวมบทความทั้งหมดไว้ด้วยกันแล้ว เชิญทางนี้เลยครับ http://way2fightnews.blogspot.com/

way2fight C-Box

ห้องลับสำหรับคุยหลังไมค์

World Clock เวลาทั่วโลก

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บทความ : หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552
หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ที่ีมา: วารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2551)



หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล[1]


นายประเดิม ดำรงเจริญ นักศึกษารามฯ บรรณาธิการวารสารสัจจธรรม ของ พรรคสัจจธรรม มร. หนึ่งในเหยื่อของการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาเป็นเครื่องมือทางการ เมือง เมื่อปี พ.ศ. 2517 อันเป็นเหตุให้เขาต้องติดคุกฟรี ต่อมาศาลพิพากษาว่าเขาบริสุทธิ์


1. เกริ่นนำ

การกระทำความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อสังคม ไทย ดังจะเห็นได้ว่ามีการกล่าวหาและดำเนินคดีกับบุคคลต่างๆ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง ข้อกล่าวหาดังกล่าวมีผลต่อความเคลื่อนไหวและการใช้สิทธิพื้นฐานของประชาชนใน ทางการเมืองมิใช่น้อยปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นนี้เป็นประเด็นที่ควรให้ความใส่ ใจโดยเฉพาะเมื่อมักมีการกล่าวอ้างว่าสังคมไทยมีระบอบการปกครองแบบ ประชาธิปไตย ในขณะที่หลายประเทศซึ่งสถาบันกษัตริย์เคยมีบทบาททางการเมือง แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย การให้สิทธิคุ้มกันและการปกป้องสถาบันกษัตริย์ในทางกฎหมายก็จะลดน้อยลง พร้อมกับการเปิดกว้างในการวิพากษ์วิจารณ์

หรือแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ แต่สำหรับสังคมไทยกลับดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้าม ดูราวกับว่ายิ่งประชาธิปไตยลงหลักปักฐานมากขึ้นเพียงใด บทบัญญัติความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกลับมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นและการ บังคับใช้ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นสังคมที่มีลักษณะพิเศษอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่ ยังคงสถาบันกษัตริย์ไว้ การทำความเข้าใจต่อความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงเป็นสิ่งที่อาจช่วยให้มองเห็นพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยไทยในอีกแง่มุม ซึ่งแตกต่างไปจากสังคมอื่นๆ


2. กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสังคมไทย


2.1 กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ฉบับสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ปรากฏครั้งแรกในพระราชกำหนดลักษณะหมิ่น ประมาท ด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ รัตนโกสินทรศก 118[2] ในหมวดที่ว่าด้วย “หมิ่นประมาทพระผู้เปนเจ้า พระอรรคมเหสี พระบรมโอรสาธิราชแลพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศ” ในมาตรา 4

ผู้ใดหมิ่นประมาทพระผู้เปนเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑล ฤาสมเด็จพระอรรคมเหษี ฤาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ดี ฤาสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้า ผู้ครองเมืองต่างประเทศฤามหาประธานาธิบดีผู้ครองเมืองต่างประเทศ ซึ่งมีทางพระราชสัมพันธมิตรไมตรีอันสนิทด้วยกรุงสยามก็ดี โดยกล่าวเจรจาด้วยปาก ฤาเขียนด้วยลายลักษณอักษร ฤากระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในที่เปิดเผย ท่ามกลางประชุมชนทั้งหลาย ด้วยกายวาจาอันมิบังควร ซึ่งเปนที่แลเห็นได้ชัดว่าเปนการหมิ่นประมาทแท้ ท่านว่าผู้นั้นกระทำผิด

เมื่อพิจารณาเปนสัตย์ว่า ผู้นั้นกระทำผิดต่อข้อห้ามดังเช่นกล่าวมานี้แล้ว ก็ให้จำคุกไว้ไม่เกินกว่า 3 ปี ฤาให้ปรับเปนเงินไม่เกินกว่า1500 บาท ฤาทั้งจำคุกและปรับด้วย

แต่ถ้าในเมืองต่างประเทศ ของสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้า ฤามหาประธานาธิบดี ซึ่งถูกหมิ่นประมาทนั้น ไม่มีกฎหมายห้ามและลงโทษ คนในบังคับของเมืองต่างประเทศนั้น ไม่มีกฎหมายห้ามและลงโทษ คนในบังคับของเมืองต่างประเทศนั้น ในการหมิ่นประมาทพระผู้เปนเจ้า ซึ่งดำรงค์สยามรัฐมณฑล โดยกล่าวเจรจาด้วยปาก ฤาเขียนด้วยลายลักษณอักษร ฤากระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ในที่เปิดเผยท่ามกลางประชุมชนทั้งหลาย ด้วยกายวาจาอันมิบังควร ซึ่งเปนที่แลเห็นได้ชัดว่าเปนการหมิ่นประมาทแล้ว ก็ห้ามมิให้ฟ้อง และมิให้ลงโทษแก่ผู้หมิ่นประมาท สมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้า ฤามหประธานาธิบดีผู้ครองเมืองต่างประเทศ ตามมาตรานี้เหมือนกัน

ต่อมาเมื่อมีการจัดทำประมวลกฎหมายอาญาแบบของตะวันตก ความผิดดังกล่าวได้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในกฎหมายลักษณะอาญาร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) โดยได้มีบทบัญญัติในเรื่องนี้ไว้ในมาตรา 98

ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้าย หรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหษีก็ดี มกุฏราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าเจ็ดปี และให้ปรับไม่เกินกว่าห้าพันบาทด้วยอีกโสตหนึ่ง

บทบัญญัติในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ให้การคุ้มครองต่อพระมหากษัตริย์ ราชินี และมกุฎราชกุมาร รวมถึงผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จากการถูกอาฆาตมาดร้ายและหมิ่นประมาท และนอกนี้ก็ยังมีบทบัญญัติที่ให้การคุ้มครองรวมไปถึงพระราชโอรสและพระราช ธิดาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาลในลักษณะเดียวกัน[3] การให้ความคุ้มครองอย่างกว้างขวางในลักษณะเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งถือว่ากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด การละเมิดต่อพระมหากษัตริย์และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องจึงเป็นความผิดที่ต้อง ได้รับการลงโทษ


2.2 กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ฉบับแรกเริ่มประชาธิปไตย


ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 บทบัญญัติในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเกิด ขึ้น อย่างไรก็ตาม ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา ในหมวดความผิดฐานกบฏภายในพระราชอาณาจักร ซึ่งมีผลเกี่ยวข้องอย่างมากต่อการขยายขอบเขตในการแสดงความเห็นที่เกี่ยวพัน กับพระมหากษัตริย์ โดยได้มีการแก้ไขในมาตรา 104 (1) ให้มีเนื้อหาดังนี้

ผู้ใดกระทำการให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบายอย่างใดๆ ดังต่อไปนี้

ก) ให้เกิดความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ หรือรัฐบาล หรือข้าราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชนก็ดี

ข) ..........

ค) ..........

ง) .......... ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่า 7 ปี และให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาท ด้วยอีกโสตหนึ่ง

แต่ถ้าวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรืออุบายอย่างใดๆ ที่ได้กระทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัย ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด

หากพิจารณาตามบทบัญญัตินี้ การเพิ่มเติมเงื่อนไขว่าถ้าเป็นการกระทำภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และรวมถึงเหตุผลอื่นๆ เช่น เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือแม้เป็นเพียงการแสดงความเห็นโดยสุจริต จะเป็นผลให้การกระทำที่แม้อาจเป็นการดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ก็สามารถกระทำ ได้โดยไม่มีความผิดแต่อย่างใด บทบัญญัติในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางการ เมืองที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าว อันเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบ กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ การกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งที่ได้รับการปกป้อง หากเปรียบเทียบกับบทบัญญัติกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง บทบัญญัติของกฎหมายจะมุ่งปกป้องสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยไม่มีข้อยกเว้น[4] เนื้อหาในลักษณะดังกล่าวจึงสะท้อนความแตกต่างของการจัดวางสถานะของสถาบัน กษัตริย์ในระบอบการปกครองที่แตกต่างกันเอาไว้ และรวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อกษัตริย์และรัฐบาล ระหว่างกฎหมายลักษณะอาญาก่อนและภายหลังจากที่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

ดังกรณีที่จำเลยอ้างต่อราษฎรว่าพระเจ้าแผ่นดินปกครองไม่ดีจะต้องถอด จำเลยซึ่งเป็นพระเจ้าพี่ยาเธอจะครองราชสมบัติแทนจำเลยได้ กล่าวว่า การฆ่าโคกระบือ ทำสุราเถื่อน และตัดไม้ เพื่อกินเนื้อเพื่อใช้ไม่ต้องเสียภาษี เด็กที่ถูกบังคับให้ เล่าเรียน ถ้าไม่อยากเรียนก็ไม่ต้องเรียน ถูกตัดสินว่าเป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 (ฎีกาที่ 612/2475 ตัดสินตามตัวบทก่อนมีการแก้ไข)

เปรียบเทียบการแสดงความเห็นวิจารณ์รัฐบาล ภายหลังจากที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อพ.ศ. 2477 จำเลยซึ่งเป็น ส.ส. กล่าวหาเสียงว่า

นับแต่ได้รัฐธรรมนูญมา ราษฎรยังไม่ได้รับการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยแท้จริง เป็นอธิปไตยและเผด็จการ ซึ่งอยู่ในอำนาจของผู้บริหารตามใจชอบ ปิดปากเสียงราษฎร ไม่ให้พูดไม่ให้วิจารณ์ สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโกหกหลอกลวง จงมาช่วยกันแช่งอ้ายคนพูดไม่มีสัตย์ พวกก่อการแต่ก่อนมีแต่กางเกงชั้นในเดี๋ยวนี้แต่ละคนมีตึกและรถยนต์ รัฐธรรมนูญแก้ไขก็เป็นประชาธิปไตยโกหก จอมพล ป. ระยำเพราะมีคนสอพลอ นายกรัฐมนตรีปัจจุบันจะระยำยิ่งกว่าเสียอีก (ฎีกาที่ 631/2491)

ศาลตัดสินว่าเป็นการพูดโฆษณาหาเสียงให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามหลักประชาธิปไตย รัฐบาลอาจถูกติชมได้ แม้ถ้อยคำจะไม่เหมาะสมบ้างก็ไม่ผิดตามมาตรา 104 และได้วินิจฉัยว่า มาตรา 104 (1) วรรคท้ายที่บัญญัติว่า ถ้าได้กระทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือเพื่อสาธารณประโยชน์ ฯลฯ ไม่ให้ถือว่าเป็นความผิดนั้น ไม่ได้หมายความเฉพาะการพูดในที่ประชุมรัฐสภา หลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน รัฐบาลจึงอาจถูกติและชมได้ แม้จำเลยจะพูดจริงดังที่ถูกฟ้องก็ไม่เป็นความผิด

แม้ตามคำพิพากษาฎีกานี้ จะเป็นการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลมิใช่เป็นการกระทำต่อพระมหา กษัตริย์โดยตรงก็ตามแต่ก็เป็นกรณีที่น่าจะสามารถเทียบเคียงกันได้ เพราะในมาตรา 104 (1) นั้นได้ให้ความคุ้มครองต่อพระมหากษัตริย์และรัฐบาลไว้ในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น การติชมรัฐบาลหรือพระมหากษัตริย์หากดำเนินไปภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐ ธรรมนูญหรือเพื่อสาธารณประโยชน์ ก็จะเป็นการกระทำที่ไม่มีความผิดตามการวินิจฉัยของศาลฎีกาในคดีที่กล่าวมา ข้างต้น


2.3 กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ฉบับประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีการ ประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499[5] โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงใน 2 ประเด็น คือ

ประเด็นแรก มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในมาตรา 104 (1) ซึ่งเดิมให้สิทธิแก่บุคคลในการแสดงความเห็นที่แม้จะทำให้เกิดความดูหมิ่นต่อ พระมหากษัตริย์ แต่ถ้ากระทำไปภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญก็จะไม่ถือว่าเป็นความผิด ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ได้มีการนำบทบัญญัติดังกล่าวมาบัญญัติไว้ในมาตรา 116 โดยส่วนหนึ่งเป็นการคงสาระตามบทบัญญัติเดิมไว้ แต่ได้มีการตัดเอาส่วนของการดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ออกไป ทำให้บทบัญญัติของมาตรานี้เป็นเรื่องของการกระทำที่มุ่งต่อรัฐบาล หรือมุ่งสร้างความไม่สงบที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐเป็นการเฉพาะเจาะจง

ประเด็นที่สอง บทบัญญัติในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้ถูกแก้ไขใหม่ในมาตรา 112 ให้มีข้อความดังต่อไปนี้


ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

ความแตกต่างจากบทบัญญัติเดิมก็คือ จากเดิมที่กำหนดให้ความผิดฐานนี้เกิดขึ้นเฉพาะเมื่อมีการแสดงความอาฆาตมาด ร้ายหรือหมิ่นประมาท แต่ในมาตรา 112 ได้กำหนดให้การดูหมิ่นเป็นการกระทำที่จัดว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเด ชานุภาพด้วย ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้มีลักษณะที่ กว้างขวางขึ้น

ทั้งนี้ลักษณะของการหมิ่นประมาทและการดูหมิ่นมีลักษณะที่แตกต่างกัน โดยการหมิ่นประมาทจะต้องเป็นการใส่ความ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง หรือทำให้คนทั้งหลายดูถูกหรือเกลียดชัง [6]

ทั้งนี้การใส่ความคือการยืนยันถึงข้อเท็จจริงใดๆ เกี่ยวกับบุคคลอื่น โดยอ้างว่าเขาได้กระทำการอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งจะยืนยันเป็นคำพูดของตนหรือเอาคำบอกเล่ามาเล่าให้ผู้อื่นฟังก็ได้[7] ตัวอย่างเช่น กล่าวหาว่าพี่น้องร่วมบิดามารดาเป็นชู้กัน กล่าวหาว่านายอำเภอเป็นเสือผู้หญิง ขอลูกสาวแล้วไม่มีเงินให้ กล่าวว่าเขาเป็นคนขี้โกง ทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นประจำ กล่าวว่าอีดอกทอง เป็นต้น สำหรับการดูหมิ่น หมายถึง การกระทำการเหยียดหยาม ซึ่งอาจกระทำทางกิริยา เช่น ยกส้นเท้าให้ ถ่มน้ำลายรด หรือเป็นการกระทำทางวาจา เช่น ด่าด้วยคำหยาบ ด่าบิดามารดา ด่าว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น[8]

การเพิ่มการดูหมิ่นเข้าไปในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีผลต่อการทำให้ ผลของการกระทำบางอย่างซึ่งไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 98 ของกฎหมายลักษณะอาญาต้องเปลี่ยนแปลงไป ดังเช่น

ป. อวดอ้างเป็นหมอรักษาโรคทางคาถาอาคม พูดอวดอ้างต่อประชาชนว่า มือขวาของตนที่ถือมีดพับนี้เป็นพระขรรค์แก้ว มือซ้ายเป็นจักรนารายณ์ เป็นหมอวิเศษ จะชี้ให้คนเป็นบ้าหรือตาย หรือเป็นอะไรก็ได้ทั้งสิ้น ป. จะเรียกพระเจ้าแผ่นดินกับรัฐธรรมนูญให้มากราบไหว้ก็ได้ ศาลตัดสินว่าการกระทำของ ป. เป็นเพียงแต่อวดอ้างให้คนทั้งหลายเชื่อว่า ตนเป็นหมอวิเศษ มิได้มีเจตนามุ่งร้ายผู้ใด คำกล่าวของ ป. ไม่มีคำใดที่จะทำให้คนทั้งหลายดูหมิ่นหรือเกลียดชังผู้ใดเลย จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 98 ตามกฎหมายลักษณะอาญา (ฎีกาที่ 1081/2482) แต่หากพิจารณาตามกฎหมายอาญาที่ได้มีการบัญญัติให้ขยายความรวมไปถึงการกระทำ ที่เป็นการดูหมิ่นด้วย ก็อาจเป็นความผิดตามมาตรา 112[9]

หากเปรียบเทียบกับกรณีที่มีการกล่าวว่า ถ้าเลือกเกิดได้จะเลือกเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระ ไม่ต้องมายืนตากแดดพูดให้ประชาชนฟัง ถึงเวลาเที่ยงก็เข้าห้องเย็นเสวยเสร็จก็บรรทม ตื่นอีกทีบ่ายสามโมง พอตกเย็นก็เสวยน้ำจัณฑ์ให้สบายอกสบายใจ คำพูดเช่นนี้ศาลเห็นว่าเป็นการกล่าวเปรียบเทียบว่า พระมหากษัตริย์ พระราชินีและรัชทายาททรงมีความเป็นอยู่สุขสบาย ต่างกับจำเลยที่เป็นลูกชาวนาต้องทำงานหนัก ซึ่งไม่เป็นความจริง แม้จะไม่เกิดผลเพราะไม่มีใครเชื่อ ก็เป็นความผิดตามมาตรา 112 (ฎีกาที่ 2354/2531)

จะเห็นได้ว่าคำพิพากษาในคดีนี้ ประเด็นสำคัญที่ถูกพิจารณาว่าเป็นความผิดก็คือ การดูหมิ่นมิใช่เป็นการหมิ่นประมาท เนื่องจากจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ก็ต่อเมื่อการใส่ความนั้นทำให้ผู้ อื่นที่ได้รับฟังมีความคล้อยตามและเชื่อถือคำกล่าวนั้น หากเป็นคำพูดที่ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือแก่วิญญูชนทั่วไปก็จะไม่เป็นความผิด ฐานหมิ่นประมาท เช่น กล่าวหาว่าเขาเป็นผีกะ (ผีปอบ) เข้าสิงและกินคนที่มาคบค้าสมาคม ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะข้อความดังกล่าวคนโดยมากไม่เชื่อ จึงไม่เป็นเหตุให้ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง (ฎีกาที่ 590/2473), ด่าเขาว่าอ้ายเหี้ย ก็ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท (ฎีกาที่ 1023/2494) เพราะฉะนั้น กรณีคำพูดของจำเลยที่เปรียบเทียบว่ากษัตริย์ แม้จะถูกพิจารณาว่าไม่เป็นความจริงและไม่ทำให้เกิดความดูหมิ่นหรือ_เกลียด ชังขึ้นเพราะไม่มีใครเชื่อ ย่อมไม่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่โดยที่มาตรา 112 ได้มีบทบัญญัติเรื่องดูหมิ่นเพิ่มเติมเข้ามา จึงทำให้การกล่าวถ้อยคำดังกล่าวเป็นความผิดในฐานนี้

การเพิ่มการดูหมิ่นเข้าไปในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีผลต่อการขยายขอบเขตของความผิดฐานนี้ให้ครอบคลุมกว้างขวางออกไป แม้จะไม่ได้เป็นการกระทำให้เกิดการดูถูกหรือเกลียดชังขึ้นจากการใส่ความ บางอย่างก็ตาม เช่น การพ่นสี การแสดงความไม่เคารพต่อสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ ก็อาจเป็นการกระทำที่ถูกจัดว่าเป็นการดูหมิ่นได้ นอกจากนี้จากเดิม (การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477) ที่แม้จะเป็น

การดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ แต่หากกระทำไปภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญก็ถือว่าได้รับการคุ้มครอง แต่ตามบทบัญญัติที่ร่างขึ้นใหม่ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ไม่มีข้อยกเว้นดังกล่าวบัญญัติเอาไว้ ทำให้ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ในการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ หรืออาจกล่าวได้ว่าการดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่มีความผิดไม่ว่า จะกระทำบนเหตุผลใดก็ตาม

บทบัญญัติของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ได้กลายเป็นบทบัญญัติที่สืบเนื่องมา และความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นอีกครั้งแต่เป็นเฉพาะการเพิ่มบทลงโทษจากจำคุก ไม่เกินเจ็ดปีเป็นจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี โดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเมื่อ พ.ศ. 2519[10]


3. การขยายความหมายของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับบทบัญญัติเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพใน ประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ในการบังคับใช้กฎหมายก็มีการตีความที่ทำให้กฎหมายฉบับนี้มีความหมายที่ขยาย ออกครอบคลุมกว้างขวาง ซึ่งปรากฏขึ้นใน 2 ลักษณะด้วยกัน


3.1 การขยายการคุ้มครองในเชิงตัวบุคคล

ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้มีการกล่าวหา พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งองคมนตรีว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทหรืออยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ ในครั้งนี้ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทของ พล.อ. เปรม และการเข้าชื่อกันเพื่อยื่นถวายฎีกาให้ทรงถอดถอน พล.อ. เปรม ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวได้ถูกโต้แย้งว่าจะเป็นการกระทำที่เข้าข่าย ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ทั้งที่เป็นที่ชัดเจนว่าความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ได้ครอบคลุมถึง องคมนตรีแต่อย่างใด องคมนตรีจึงไม่ได้รับการปกป้องเป็นพิเศษแตกต่างไปจากประชาชนทั่วไป การแสดงความเห็นต่อบทบาทหรือสถานะขององคมนตรีจึงเป็นสิ่งที่สมควรจะกระทำได้ แต่กลับปรากฏว่ามีการปกป้อง พล.อ. เปรม จากการ “ลามปาม” ด้วยการให้เหตุผลว่าองคมนตรีเป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งหรือ ถอดถอนได้เอง การกระทำใดๆ ที่กระทบกระเทือนต่อพระราชอำนาจดังกล่าวจึงย่อมถือว่าเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเด ชานุภาพด้วย

ความพยายามในการขยายการคุ้มครองเชิงตัวบุคคลมาปรากฏอย่างชัดเจนเมื่อมีการ เสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอแก้ไขกฎหมายอาญาให้ขยายออกไปโดยรวมถึงพระราชโอรส พระราชธิดา ประธานองคมนตรี องคมนตรี และผู้แทนพระองค์ ด้วยการให้_เหตุผลว่าบุคคลดังกล่าวมีความเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหา กษัตริย์ และอาจได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่บางประการอันเป็นราชการในพระองค์ อีกทั้งได้รับการรับรองสถานะและอำนาจหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญเสมอมา แต่บุคคลดังกล่าวกลับได้รับความคุ้มครองในกรณีมีการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป จึงสมควรกำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดและรับโทษหนักขึ้น[11]

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเริ่มการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ทางนายพรเพชรได้ถอนร่างดังกล่าวออกจากการพิจารณาด้วยการให้เหตุผลว่า “ได้รับแจ้งว่าทางองคมนตรีไม่สบายใจ เพราะทางคณะองคมนตรีได้พูดจากันแล้วทั้งหมด และแจ้งให้ผมทราบว่า ทางคณะองคมนตรีท่านไม่สบายใจที่จะคุ้มครองท่านเป็นพิเศษ ถึงแม้ สนช. จะปรารถนาดีที่จะเพิ่มเติมในกฎหมายนี้ เมื่อเป็นความประสงค์เช่นนี้ผมจึงแจ้งไปยังวิป สนช. แล้วก็ถอน”[12]


3.2 การขยายการคุ้มครองในเชิงการกระทำ

โดยทั่วไปการกระทำที่จะเป็นความผิดในฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทต่อบุคคลอื่น มักจะต้องเป็นการกระทำที่แสดงออกโดยตรงต่อบุคคลดังกล่าว หรือเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเจตนาให้เกิดผลกับบุคคลนั้น โดยเฉพาะเจาะจง ให้สามารถเข้าใจได้ว่าการกระทำที่เกิดขึ้นต้องการให้หมายถึงบุคคลใด เช่น การระบุชื่อของบุคคล เป็นต้น แต่สำหรับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น พบว่าแทบไม่มีการกระทำที่เป็นการแสดงออกซึ่งการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นโดย ตรงต่อพระมหากษัตริย์ การดำเนินคดีหรือการกล่าวหาบุคคลใดในการกระทำความผิดฐานนี้มักจะเป็นการ แสดงออกที่กระทำต่อวัตถุ สิ่งของ หรือสัญลักษณ์อื่นใดที่มีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ดังหลายคดีที่ตก เป็นข่าวขึ้น เช่น การตัดต่อภาพ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีลงไปในธนบัตรฉบับละ 20, 50 และ 100 บาท ก่อนนำไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต[13] การพ่นสีสเปรย์ใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[14 ] การไม่ยืนตรงแสดงความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี (ฎีกาที่ 1294/2521) เป็นต้น ซึ่งการกระทำต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่ต้องการคำอธิบายอย่างชัดเจนว่าการกระทำในลักษณะเช่นใดจึงควรถูกจัด ว่าเป็นความผิด การกระทำในลักษณะเช่นใดเป็นเพียงการกระทำที่ไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการถกเถียงและทำความเข้าใจกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเด ชานุภาพอย่างจริงจังใดๆ ขึ้น จึงทำให้เกิดการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในการดำเนินคดีกับการกระทำ ต่างๆ ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง จนทำให้ดูราวกับว่าคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกำลังถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย การกระทำที่สามารถเชื่อมโยงกับวัตถุ สิ่งของ หรือสัญลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในลักษณะที่อาจกระทบหรือเกี่ยวข้อง ก็สามารถที่จะถูกกล่าวหาว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดนี้ได้ เช่น การนำพระราชดำรัสมาพิมพ์เป็นข้อความในสติ๊กเกอร์ โดยข้อความในสติ๊กเกอร์มีดังนี้ เผยรับสั่งในหลวง “ถ้าทุจริตแม้นิดเดียวก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป” เผยรับสั่งราชินี “ความยากจนไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าละอาย ความชั่วช้าคดโกงนั่นแหละเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่าละอายอย่างยิ่ง” ผู้นำสติ๊กเกอร์มาติดตามสถานที่สาธารณะก็ถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นพระ บรมเดชานุภาพ[15]

การกล่าวหาพระราชภาวนาวิสุทธิ์แห่งวัดธรรมกายว่าทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นับว่าเป็นกรณีที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในเรื่องนี้คณะกรรมาธิการศาสนาได้กล่าวหาว่าพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (พระธัมมชโยหรือพระไชยบูลย์ สุทธิผล) ทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพใน 3 เรื่อง คือ[16]

หนึ่ง สั่งตัดไม้มงคลที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงปลูกไว้ 2 ต้น เมื่อปี พ.ศ. 2522 เมื่อครั้งทรงเททองหล่อพระประธาน และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ได้ทรงปลูกไว้เมื่อครั้งเสด็จ วางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ

สอง ย้ายพระพุทธรูปประธานที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีหรือสมเด็จย่าทรงเท ทองหล่อไว้เมื่อปี 2522 โดยได้หายไปไม่ทราบอยู่ที่ใด และได้นำพระพุทธรูปหล่อขึ้นใหม่โดยอาศัยเค้าโครงจากใบหน้า และรูปลักษณ์ของพระธัมมชโยเป็นต้นแบบ

สาม การซื้อและครอบครองที่ดินโดยไม่ใช้สมณศักดิ์ซึ่งเป็นราชทินนามที่ได้รับพระ ราชทาน ในการซื้อหรือถือครองที่ดินตามจังหวัดต่างๆ แต่กลับใช้ชื่อในการถือครองที่ดินว่าพระไชยบูลย์ สุทธิผล ซึ่งเป็นชื่อเดิม

จะเห็นได้ว่าในสองกรณีแรก หากพิจารณาตามมาตรา 112 ก็เป็นที่ชัดเจนว่าการกระทำที่เกิดขึ้นยากที่จะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นพระ บรมเดชานุภาพ เพราะนอกจากไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ราชินีหรือรัชทายาทแล้ว ยังเป็นการกระทำที่กระทำต่อต้นไม้ และพระพุทธรูปอีกด้วย การดำเนินคดีกับพระราชภาวนาวิสุทธิ์ย่อมเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจ ที่มีต่อความผิดฐานนี้ว่าได้ขยายออกไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายอย่างมาก

สำหรับข้อหาการไม่ใช้สมณศักดิ์ซึ่งเป็นนามที่ได้รับพระราชทาน นับเป็นประเด็นที่ใกล้เคียงกับการแจ้งความเพื่อให้มีการดำเนินคดีกับสมัคร สุนทรเวช ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2550 ภายหลังจากที่นายสมัครให้สัมภาษณ์ในการแถลงเปิดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งของ พรรคพลังประชาชนผ่านทางสถานีโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “เพราะได้ตรวจสอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถึงจะเป็นรัฐธรรมนูญที่เลวก็ยอมที่จะเป็น นายกฯ” ซึ่งนายอำนาจ จันทรมนตรี แกนนำเครือข่ายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภาคอีสานพร้อมชาวบ้านจาก 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.พลับพลาชัย อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ และอ.ปราสาท จ.สุรินทร์ กว่า 30 คน เห็นว่าเป็นการใช้วาจาจาบจ้วงหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้ลงพระปรมาภิไธยในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดัง กล่าว จึงได้เข้าร้องทุกข์แจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีกับนายสมัคร[17]

อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหาดังกล่าวอาจถูกโต้แย้งได้ว่าถ้าเช่นนั้นการรัฐประหารรัฐบาลของพ. ต.ท. ทักษิณ ก็ย่อมเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยเช่นกัน เนื่องจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ต้องได้รับการลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง โดยพระมหากษัตริย์

แม้การขยายความหมายของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะยังสามารถถูกโต้แย้ง ด้วยหลักและเหตุผลทางกฎหมายซึ่งทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษตามข้อกล่าวหา แต่การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างกว้างขวางเช่นนี้ ในแง่หนึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจของสังคมที่มีต่อความผิดฐานนี้ได้ ว่ากำลังขยายตัวให้ครอบคลุมถึงการกระทำต่างๆ เกินกว่าที่กฎหมายได้บัญญัติเอาไว้


4. หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และสังคมการเมืองไทย

จากความเปลี่ยนแปลงในบทบัญญัติและการบังคับใช้กฎหมายในความผิดฐานหมิ่นพระ บรมเดชานุภาพที่ขยายเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย ทำให้เกิดประเด็นคำถามดังต่อไปนี้

ประการแรก กฎหมายว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถาบันพระ มหากษัตริย์อย่างไร แม้จะมีการให้เหตุผลว่าการมีกฎหมายนี้ไว้เพื่อปกป้องสถาบันฯจากการล่วง ละเมิดโดยผู้ไม่จงรักภักดี แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นจะพบว่ามีข้อพิพาทเป็นจำนวนมากที่แสดงให้เห็น ได้ว่ามิได้เป็นการกระทำที่มุ่งปกป้องสถาบันฯ แต่อย่างใด หากเป็นการมุ่งผลประโยชน์ในทางการเมืองหรือเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า ในกรณีเช่นนี้ย่อมทำให้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกลายมาเป็น “เครื่องมือ” ในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจระหว่างบุคคลฝ่ายต่างๆ

ประการที่สอง ความคิดว่าด้วยความเสมอภาคและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสังคมไทยเป็น อย่างไร การยอมรับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอาจส่งผลกระทบต่อแนวความคิดต่อหลัก การพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างสำคัญ ยิ่งมีการขยายขอบข่ายของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพออกไปมากเท่าใด ก็ยิ่งมีผลกระทบที่รุนแรงต่อทั้งความคิดว่าด้วยความเสมอภาพและเสรีภาพในการ แสดงความคิดมากขึ้นไปเป็นเงาตามตัว

ประการที่สาม กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพควรมีอยู่หรือไม่ และหากจำเป็นที่จะต้องมีอยู่กฎหมายนี้ควรจะมีเนื้อหาในลักษณะเช่นใด แม้ว่าอาจมีบางฝ่ายที่มีความเห็นว่าควรยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อไม่ให้เกิดการนำเอาสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกันในทาง การเมือง แต่ก็มีบางฝ่ายที่เห็นว่ากฎหมายนี้ยังมีความจำเป็นอยู่สำหรับสังคมไทย แต่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของระบบการ เมืองการปกครอง อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญก็คือว่าทั้งหมดนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หาก ปราศจากการแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น และถกเถียงในประเด็นดังกล่าว เพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นและความเหมาะสมของกฎหมายในเรื่องนี้ว่ายังควรมี อยู่หรือไม่ และหากยังคงต้องมีอยู่ ควรจะมีอยู่ในลักษณะเช่นใดที่จะเป็นไปได้อย่างสอดคล้องกับ

……….



[1] คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

[2] เสถียร ลายลักษณ์, ประชุมกฎหมายประจำศก, เล่ม 17 ร.ศ. 118-119 (ม.ป.ท.: โรงพิมพ์เดลิเมล์, นิติเวชช์, 2477)

[3] มาตรา 100 ของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127

ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าสามปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสตหนึ่ง

[4] มาตรา 104 กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127

ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย ด้วยประการใดใด โดยเจตนาต่อผลอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ว่าต่อไปในมาตรานี้ คือ

(1) เพื่อจะให้ขาดความจงรักภักดีหรือดูหมิ่น ต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ต่อรัฐบาลก็ดี หรือต่อราชการแผ่นดินก็ดี

(2) เพื่อให้คนทั้งหลาย เกิดความเดือดร้อนแลกระด้างกระเดื่อง ถึงสามารถอาจจะเกิดเหตุร้ายขึ้นในแผ่นดินของท่านได้ก็ดี

(3) เพื่อยุยงให้คนทั้งหลายกระทำการล่วงละเมิดต่อพระราชกำหนดกฎหมายก็ดี ท่านให้เอามันผู้กระทำการอย่างใดใดโดยเจตนาเช่นว่ามานี้ ลงอาญาจำคุกไม่เกินกว่าสามปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าพันบาทด้วยอีกโสตหนึ่ง

[5] ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ซึ่งกำหนดใช้บังคับประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2500 เป็นต้นไป

[6] ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 326

ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[7] หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127, พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2548), หน้า 402

[8] หยุด แสงอุทัย, กฎหมายอาญา ภาค 2-3, พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546), หน้า 44

[9] จิตติ ติงศภัทิย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ตอน 1, พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพฯ: สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2536), หน้า 1115

[10] คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ข้อ 1

[11] “สนช. เสนอเพิ่มโทษ ม.112 กม.หมิ่นฯ ขยายคลุม ‘องคมนตรี’ และห้ามเสนอข่าวคดีหมิ่นฯ,” ประชาไท, 8 ตุลาคม 2550

[12] “องคมนตรีไม่สบายใจ ได้รับคุ้มครองพิเศษ ถอนแก้ ป.อาญา,” ประชาไท, 9 ตุลาคม 2550

[13] “จับเจ้าของร้านเน็ตตัดต่อรูปทักษิณ ใส่ธนบัตรโพสต์ขึ้นเว็บ,” http://entertainment...d=2278&catid=87

[14] “เอือม,” 3 เมษายน 2550, http://etatdedroit.b.../blog-post.html

[15] “เปิดคำให้การพยาน คดี ‘สติ๊กเกอร์หมิ่น’,” http://www.mthai.com...rd/5/61566.html

[16] “ธรรมกายดูดทรัพย์อีก ออกเทปขาย อวดอุตริ,” เดลินิวส์, 6 มีนาคม 2542, http://rabob.tripod.com/daily107.htm

[17] “ชาวบุรีรัมย์-สุรินทร์บุกแจ้งความดำเนินคดี ‘สมัคร’ หมิ่นเบื้องสูง,” ผู้จัดการออนไลน์, 7 พฤศจิกายน 2550

ที่มา LM Article

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น