นาฬิกา รูปภาพ ปฎิทิน


       เวลาประเทศไทย...  
 
 
 

       ปฏิทินวันนี้...  

News online

Radio

REDPLUS  LIVE 1
ผู้กล้าปชต. 90.25 MHz
REDSIAM
SOOMHUAGUN
วิทยุ 3DANG 1
วิทยุแกนนอน
วิทยุม้าเร็ว 1
THAIVOICE 2
ติดต่อเรา way2fight.rs@gmail.com
Blog นี้เข้าได้สองทางนะครับ http://way2fight.blogspot.com และ http://fighttillwin.blogspot.com แต่ละ Blog มีบทความให้อ่านต่างกันครับ แต่นอกนั้นเหมือนกันหมดครับ C box เดียวกันครับ เข้าทางไหนก็คุยกันได้ครับ สำหรับท่านที่ต้องการเข้ามาคุยอย่างเดียวเชิญทางนี้ครับ http://way2fight.cbox.ws/ (ห้องสีชมพู) และ http://winniebetter.cbox.ws/ (ห้องสีฟ้า) สำหรับท่านที่ต้องการอ่านแต่บทความอย่างเดียวเพราะคอมช้า ทำให้เสียเวลาในการโหลดหน้าเวบ ทางทีมงาน Blog ได้รวบรวมบทความทั้งหมดไว้ด้วยกันแล้ว เชิญทางนี้เลยครับ http://way2fightnews.blogspot.com/

way2fight C-Box

ห้องลับสำหรับคุยหลังไมค์

World Clock เวลาทั่วโลก

วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

คดี 112 : กรณีสุรพศ ทวีศักดิ์ "นักปรัชญาชายขอบ"

สภ.ร้อยเอ็ด ออกหมายเรียก ‘สุรพศ-นักปรัชญาชายขอบ’ เหยื่อ ม.112 คนล่าสุด
Wed, 2011-12-07 15:47


ตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ดออกหมายเรียกนายสุรพศ ทวีศักดิ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน ผู้เขียนบทความประจำเกี่ยวกับพุทธศาสนาในเว็บไซต์ประชาไท และบทความการเมืองโดยใช้นามแฝงว่า “นักปรัชญาชายขอบ” โดยหมายเรียกดังกล่าวลงวันที่ 22 พ.ย.2554 ในข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบได้นำหมายเรียกซึ่งออกโดย ตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด ให้นายสุรพศ ทวีศักดิ์ ผู้ต้องหาไปพบ พ.ต.อ.ภัทราวุธ เอื้อมศศิธร หัวหน้าพนักงานสอบสวน ในวันที่ 7 ธันวาคม 2554 ในข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ” ณ สถานีตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด

นายสุรพศ เปิดเผยว่า เบื้องต้นทราบจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ข้อความที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษคือข้อความที่โพสต์ในชื่อ ‘นักปรัชญาชายขอบ’ ซึ่งโพสต์แสดงความเห็นท้ายบทความชื่อ “จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม-การเมืองไทยอย่างไร?” ของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่เผยแพร่ในประชาไท เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 โดยก่อนหน้านี้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อขอข้อมูลมาทางมหาวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2553 และได้ทำหนังสือชี้แจงไปแล้วตั้งแต่นั้น แล้วเรื่องก็เงียบไป จนกระทั่งมีหมายเรียกมานี้

อย่างไรก็ตาม นายสุรพศ เปิดเผยถึงการเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกว่า เนื่องจากได้รับหมายเรียกกระชั้นเกินไป ทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอในการเตรียมการ ประกอบกับมีภารกิจจำเป็น จึงได้ขอเลื่อนนัดตามหมายเรียก โดยขอไปพบพนักงานสอบสวนภายในเดือนมกราคม 2555

รายงานข่าวแจ้งว่า การตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาครั้งนี้มาจากการแจ้งความของผู้ใช้นามแฝงว่า ‘ไอแพด’ ซึ่งแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อผู้ถูกกล่าวหาในการแสดงความคิดเห็นท้ายบทความ อย่างไรก็ตามในการแจ้งความ ปรากฏชื่อของนายวิพุธ สุขประเสริฐ เป็นผู้แจ้งความ

จาก prachatai

................................................

สุรพศ ทวีศักดิ์: คำแถลงกรณี 'การถูกคุกคามเสรีภาพทางวิชาการด้วย ม.112'
Wed, 2011-12-07 15:54

นายสุรพศ ทวีศักดิ์
อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน



เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม 2554 เวลา 12.30 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมาขอพบผม ณ ที่ทำงาน เพื่อแจ้งหมายเรียกผู้ต้องหาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกโดยตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด ลงวันที่ 22 พ.ย.2554 ในข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ” โดยให้ผู้ต้องหาไป ณ ที่ตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด พบ พ.ต.อ.ภัทราวุธ เอื้อมศศิธร หัวหน้าพนักงานสอบสวน ในวันที่ 7 ธันวาคม 2554 เวลา 09.00 น.แต่เนื่องจากได้รับหมายเรียกกระชั้นมากเกินไป ทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอในการเตรียมการ ประกอบกับมีภารกิจจำเป็น ผมจึงขอเลื่อนนัดตามหมายเรียกโดยขอไปพบพนักงานสอบสวนภายในเดือนมกราคม 2555

ข้อเท็จจริงคือ ผมเองเขียนบทความลงประชาไทอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงหลังเหตุการณ์ “สงกรานต์เลือด ปี 2552” โดยใช้ชื่อจริงในการเขียนบทความทางพุทธศาสนาและสังคม และใช้นามปากกา “นักปรัชญาชายขอบ” ในการเขียนบทความทางการเมือง และเป็นธรรมดาของการเขียนบทความในประชาไทที่จะมีการโพสต์แสดงความคิดเห็น หรือถกเถียงโต้ตอบกันอย่างเสรีท้ายบทความ ระหว่างคนอ่านด้วยกันเอง หรือระหว่างคนอ่านกับเจ้าของบทความ ซึ่งผมเองก็ได้โพสต์แสดงความเห็น และถกเถียงแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ทั้งในชื่อจริงและนามปากกาดังกล่าวอยู่บ่อยๆ

ในกรณีที่ถูกแจ้งความ เท่าที่ผมทราบเบื้องต้นจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้อความที่ถูกแจ้งหมิ่นฯ คือข้อความที่โพสต์ในชื่อ ‘นักปรัชญาชายขอบ’ ซึ่งโพสต์แสดงความเห็นท้ายบทความชื่อ “จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม-การเมืองไทยอย่างไร?” ของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่เผยแพร่ในประชาไท เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 และเรื่องนี้ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อขอข้อมูลมาทางมหาวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2553 และผมเองก็ทำหนังสือชี้แจงไปแล้วตั้งแต่นั้น แล้วเรื่องก็เงียบไป

แต่อยู่ๆ ก็มาดำเนินคดีกับผมเอาตอนนี้ ตอนที่เราได้รัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งด้วยการต่อสู้ที่ชู “ธงประชาธิปไตย” และ “ธงความยุติธรรม” ซึ่งมีทั้งนักวิชาการและประชาชนจำนวนมากที่เสี่ยงมากบ้างน้อยบ้าง “ร่วมต่อสู้” ตามกำลังของตนเองภายใต้ “ธง” ดังกล่าว และในกรณีของผมเอง ตำรวจจากส่วนกลางมาขอข้อมูลจากทางมหาวิทยาลัย ผมจึงแปลกใจว่า เหตุใดจึงมาดำเนินคดีเอาตอนนี้ ตอนที่เราเชื่อว่าได้ “รัฐบาลประชาธิปไตย” และทำไมไม่ดำเนินคดีที่สวนกลาง แต่กลับโยนเรื่องกลับไปดำเนินคดีที่ร้อยเอ็ด

ส่วนข้อความที่ถูกแจ้ง ผมคงพูดในรายรายละเอียดไม่ได้ คงพูดเพียงกว้างๆ ได้ว่า เนื้อหาสำคัญของข้อความนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับประเด็นถกเถียงทางวิชาการที่เป็นสาธารณะอยู่แล้ว แม้สื่อกระแสหลักจะยังไม่ถกเถียงเรื่องนี้แพร่หลาย แต่ก็มีแพร่หลายใน social media อยู่แล้ว ผมมั่นใจว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้มีความหมายหรือแสดงถึงเจตนาหมิ่นเบื้องสูงแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นข้อเสนอในการแลกเปลี่ยนท้ายบทความเชิงวิชาการว่า “กติกา” เกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในอนาคตควรเป็นอย่างไร โดยไม่มีคำกล่าวหา หรือคำไม่สุภาพใดๆ ที่พาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ในฐานะ “ตัวบุคคล”

ผมขอพูดในเชิงอุปมาอุปไมยว่า สมมติว่าผมรู้ว่าในทางพุทธศาสนามีศีลห้ามพระสงฆ์รับเงิน แม้ผมจะยอมรับได้ว่า การที่พระสงฆ์ต้องรับเงินในสมัยปัจจุบันเพราะมีความจำเป็นเนื่องจากอยู่ในโลกของความเป็นจริงที่ต้องใช้เงิน แต่ด้วยความห่วงใยพุทธศาสนาผมจึงเสนอให้องค์กรปกครองสงฆ์ออกกฎของสงฆ์ “ห้ามพระสงฆ์มีบัญชีเงินฝากส่วนตัว” ต่อมามีผู้ไปแจ้งความว่าผมหมิ่นประมาทพระสงฆ์ว่ามีบัญชีเงินฝากส่วนตัวด้วย “ข้อความอันเป็นเท็จ” และสมมติอีกว่าความผิดตามกฎหมายมาตราที่เขาไปแจ้งความนั้น ห้ามไม่ให้ผู้ต้องหาแสดงข้อเท็จจริงหักล้างว่า ข้อความที่เขากล่าวหาว่าเป็นเท็จนั้น “ไม่เป็นเท็จอย่างไร” ตามตัวอย่างนี้ แค่คิดด้วยสามัญสำนึกธรรมดา เราก็รู้ว่ากฎหมายแบบนี้มันไม่ยุติธรรม หรือไม่แฟร์กับผู้ถูกกล่าวหา

ผมคิดว่ากฎหมายหมิ่นฯ ม.112 ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ถูกกล่าวหาได้พิสูจน์ว่าข้อความของเขา “ไม่เป็นเท็จอย่างไร” ก็เป็นกฎหมายที่ไม่ให้ความยุติธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาโดยพื้นฐานอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังกำหนดอัตราโทษไว้สูงเกินไป กรณี “อากง” ที่ส่งข้อความ 4 ข้อความไปที่โทรศัพท์มือถือส่วนตัวของคนอื่นต้องถูกจำคุกถึง 20 ปี ผมคิดว่ามันอธิบายไม่ได้ว่ายุติธรรมอย่างไร อีกอย่างการที่ให้ใครแจ้งความก็ได้ เราก็พบปัญหานี้มาตลอดมาว่า มันมีการกลั่นแล้งกัน มีการใช้ ม.112 ทำลายกันในทางการเมือง และคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ

โดยส่วนตัว ผมเห็นด้วยกับแนวทางของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และคณาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ กลุ่มนักเขียน นักวิชาการอิสระ และคนอื่นๆ อีกจำนวนมากที่แลกเปลี่ยนกันทาง social media เช่น เฟซบุ๊ค สื่อออนไลน์ต่างๆ ที่ยืนยันเหมือนกันว่า สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 และเห็นด้วยกับการรณรงค์ให้ปล่อยอากง ปล่อยนักโทษการเมือง และให้แก้ไข ม.112 ให้สอดคล้องกับหลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตย

แนวทางนี้คือแนวทางปกป้องสถาบันที่ดีที่สุด เพราะเงื่อนไขสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนผ่านสังคมเราให้เป็นประชาธิปไตย คือ “ต้องไม่ให้มีการอ้างสถาบันทำรัฐประหาร” ได้อีก ไม่มีการใช้ ม.112 ทำลายกันในทางการเมือง ไล่ล่าคนเห็นต่างในทางการเมือง หรือคุกคามเสรีภาพทางวิชาการได้อีก

ผมคิดว่า สิ่งที่ผมโดนตอนนี้คือ “การคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ” ในอีกรูปแบบหนึ่ง มันมีคนที่คิดต่างเห็นต่างในเรื่อง “การปกป้องสถาบัน” ไปแจ้งความไว้ที่จังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อให้ผมเสียเวลาเดินทาง เสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี อันนี้เห็นได้จากที่เขาตามโพสต์ด่าท้ายบทความของผมมาตลอด แล้วก็โพสต์เอกสารแจ้งความขึ้นเว็บประชาไท และเยาะเย้ยทำนองว่า “มึงเตรียมกระเป๋า เตรียมค่ารถเดินทางมาพบตำรวจที่ร้อยเอ็ดหรือยัง” อะไรประมาณนี้ เท่าที่ทราบมา คนเดียวกันนี้ไปแจ้งคดีหมิ่นฯ กับคนอื่นๆ อีกถึง 6 คดี นี่คือปัญหาของ ม.112 ที่ใครจะไปแจ้งความไว้ที่ไหนก็ได้ เขาต้องการให้เรากลัว และหยุดคิด หยุดเขียน หยุดพูด หยุดอภิปรายถกเถียงตามแนวทางที่ผมว่ามา

และสำหรับสังคมไทย ก็มักจะมองว่าผู้ต้องหาในคดีหมิ่นฯ ไม่เพียงแต่เป็นผู้ถูกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายเท่านั้น หากแต่เป็น “ความผิดบาป” ที่ทำให้ครอบครัว คนรอบข้าง ญาติมิตรต่างหวาดกลัวและเครียดไปตามๆ กัน ผู้ต้องหาก็อาจถูกเพื่อนร่วมงาน ถูกสังคมที่เขาสังกัดพิพากษาไม่ต่างอะไรกับ “ไอ้ฟัก” ในนวนิยายเรื่อง “คำพิพากษา” ของชาติ กอบจิตติ อันนี้คือข้อเท็จจริงไม่ใช่ “ดราม่า” หรือถ้ามันจะเป็น “ดราม่า” มันก็คือ “ดราม่า” ที่เป็นความจริงเฉพาะของสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า สังคมเราจำเป็นต้องเรียนรู้จาก “บทเรียน” ที่ผ่านมาว่า 14 ตุลา 6 ตุลา และ พฤษภา 53 นักศึกษาและประชาชนถูกฆ่าตายมามากเกินไปแล้วด้วย “ข้อกล่าวหาล้มเจ้า” แล้วผลของการต่อสู้นั้น เราก็ได้แกนนำฮีโร่ในยุคต่างๆ ได้การเลือกตั้ง และการเกี้ยเชี้ยของชนชั้นนำเพียงไม่กี่กลุ่ม สุดท้ายก็ไม่มีหลักประกันว่า จะเกิดรัฐประหารและการนองเลือดขึ้นอีกหรือไม่ เพราะเราไปไม่ถึง “การสร้างกติกา” ให้ทุกสถาบันอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพและความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

บางคนบอกว่า ถ้าจะพูดหรือเขียนอะไรในเชิงตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิด อุดมการณ์ หรือกติกาเกี่ยวกับเรื่องสถาบันต้องดูสถานการณ์ก่อนว่าปลอดภัยหรือไม่ อันนี้ผมเองก็เคารพความรู้สึกของแต่ละคน เพราะระบบกฎหมายและวัฒนธรรมทางความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของสังคมนี้มันทำให้เราต้องหวาดกลัวที่จะใช้เสรีภาพและเหตุผลอย่างถึงที่สุดในการถกเถียงปัญหาระดับรากฐานของความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ แต่อยากให้ช่วยกันมองอีกมุมว่า ถ้ามันปลอดภัยแล้วก็ไม่มีอะไรต้องพูดกันอีก ผมคิดว่าที่ใครๆ เขาเสี่ยงพูดเรื่องสถาบันในเวลานี้เขาเสี่ยงเพื่อให้สังคมนี้มีกติกาที่ประชาชนมีเสรีภาพสามารถพูดถึงสถาบันในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ “บุคคลสาธารณะ” ใน “ระบอบประชาธิปไตย” ได้อย่างปลอดภัย นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่ามีความจำเป็น แม้จะต้องเสี่ยง ซึ่งไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์อื่นใดนอกจากเพื่อยืนยันความมั่นคงของสถาบันที่ต้องสอดคล้องกับความมั่นคงของประชาธิปไตย

ผมคิดว่าเราต้องไม่ปล่อยให้มันสายเกินไป ต้องช่วยกันปลดล็อกเงื่อนของความความรุนแรงนองเลือดที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ถึงเวลาแล้วที่สังคมเราควรเลิกหลอกตนเอง ยอมรับความจริงเสียทีว่า เวลานี้สังคมเราเดินมาถุงจุดที่ต้องร่วมกันสร้าง “กติกา” ให้ทุกสถาบันอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพ หลักความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเป็นกติกาที่สามารถ “หยุดการอ้างสถาบันทำรัฐประหาร” ได้ตลอดไป

ที่มา prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น